|
|
|
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง ร่วมกับ อบต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง และชาวบ้านในชุมชน ร่วมกันปล่อยปลาขี้ขมหรือปลาสร้อยนกเขา ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นจำนวน 60,000 ตัว พร้อมปลาประจำถิ่นอื่น ๆ อีกกว่า 500,000 ตัว คืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หลังพบหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพราะรสชาติดี ทำให้มีราคาสูง
ที่สวนสาธารณะหนองวังหยี ตำบลนาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง นางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผ.อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง พร้อมด้วยนางอารี ขวัญศรีสุทธิ์ นายก อบต.นาข้าวเสีย นายสมพร กุลบุญ อดีตประมงจังหวัด และผู้นำชุมชนตำบลนาข้าวเสีย ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาขี้ขมหรือปลาสร้อยนกเขา จำนวน 60,000 ตัว ตามโครงการฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำจืด “คืนปลาขี้ขมสู่แหล่งน้ำ จ.ตรัง” โดยได้มอบพันธุ์ปลาขี้ชขมให้กับตัวแทนชาวบ้าน ไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะตามความเหมาะสมตามถิ่นที่อยู่เดิมของปลาขี้ขม ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นภาคใต้
สำหรับปลาขี้ขมมีรสชาติที่หวาน อร่อย เนื้อแน่น จึงมีชาวบ้านจับมาขายในราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณปลาขี้ขมลดลงอย่างรวดเร็ว จนบางพื้นที่ปลาขี้ขมได้หายไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ศูนย์วิจัยฯ จึงได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาขี้ขมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มาเพาะขยายพันธุ์ โดยเฉพาะแม่ปลาที่มีไข่ได้นำมาฟักเป็นตัว เพื่อให้มีอัตราการรอดที่สูงขึ้น จนสามารถปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำได้
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยปลาตะเพียนขนาดเล็ก ที่เพาะพันธุ์ในโมบายแฮชเชอรี่จำนวน 500,000 ตัวลงสู่แหล่งน้ำด้วย
ด้านนางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผ.อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรังกล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพื่อเพาะพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2564 จนประสบความสำเร็จ และได้ปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำหลายแห่งแล้ว ซึ่งเกษตรกรสามารถจับมาจำหน่ายหรือทำแกงในครัวเรือนได้แล้ว ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็จะพยายามเพาะพันธุ์ต่อไป เพื่อให้ปลาตัวนี้เด่นขึ้นมา เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างจะมีราคาแพง
โดยทางศูนย์ฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มชาวประมงหรือกลุ่มที่อนุรักษ์ปลาไทย ว่าหากเจอปลาขี้ขมให้โทรมาแจ้งทางศูนย์ฯ เพื่อไปรับพ่อแม่พันธุ์มาเพาะพันธุ์ต่อก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำของจ.ตรัง