Review | รีวิว
จำนวนรีวิว 0 รีวิว : 1 หน้า :
|
|
|
วันนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ ออกมาชี้แจง กรณีโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลําชารสามัคคีคนทํานาโคกสะบ้า ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง หลังจากสื่อบางสำนักฯนำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน
นางกศิรินทร์ พลนาค ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ 1 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การเสนอข่าวดังกล่าว คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลำชารสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
เป็นโครงการตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาการดำเนินการตามสัญญาจ้าง เริ่มสัญญา วันที่ 9 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญา วันที่ 4 กันยายน 2566 งบประมาณค่าก่อสร้าง 24,924,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ รวม 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการขุดลอกความยาว 420 เมตร ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ ช่วงที่ 2 เว้นไว้คงสภาพเดิม ซึ่งเป็นป่าสาคู ความยาว 957 เมตร และช่วงที่ 3 กำลังดำเนินการ ความยาว 1,079 เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภค ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ โครงการฯเป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูก เป็นแก้มลิง รับน้ำในช่วงน้ำหลากบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับพื้นที่ได้
ซึ่งในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการจำเป็นต้องระบายน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำเดิมออก เพื่อขุดลอกตะกอนดินตามรูปแบบการก่อสร้าง และเพื่อมิให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าวในขณะก่อสร้างและท่วมพื้นที่ในอนาคต ผู้รับจ้างจึงทำการเปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ และเป็นการขุดตามร่องน้ำสาธารณะเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการขุดต้นสาคู ให้น้อยที่สุด ความยาว 446 เมตร กว้าง 3 เมตร และได้ขุดต้นสาคูที่ขวางทางน้ำซึ่งงอกขึ้นบริเวณกลางร่องน้ำสาธารณะออก 22 ต้น ก่อนการดำเนินการขุดผู้รับจ้างได้ประสานการขุดกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลโคกสะบ้า และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะบ้า เพื่อรับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการ เนื่องจากจะช่วยระบายน้ำจากโครงการเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ชาวบ้านในพื้นที่รับผลประโยชน์ 4,000 ไร่ 500 ครัวเรือน
จนกระทั่งมีกลุ่มชาวบ้านได้ร้องเรียนคัดค้านการดำเนินโครงการฯกับนายอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ในขณะที่นายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอนาโยง ได้นัด ผู้เกี่ยวข้องประชุม ที่ห้องปฏิบัติการนายอำเภอ เพื่อหาข้อยุติในกรณีดังกล่าว โดยมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ 1. ผู้รับจ้างจะไม่มีการขยายเพื่อระบายน้ำ นอกขอบเขตบริเวณโครงการพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มเติม และการดำเนินการจะสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น ปลูกหญ้าแฝกทดแทนบริเวณที่ได้ขุดท้ายน้ำ ระยะทาง 446 เมตร
เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะปลูกต้นสาคูทดแทนหรือไม่ หรือจะปลูกต้นไม้ ชนิดใด จะประชุมชุมชน เพื่อขอมติเสียงส่วนใหญ่ แล้วแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันดำเนินการ หน่วยงานจะกำกับดูแลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ทางด้านนายสมโชค เชยชื่นจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะบ้า เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 30 ปี มีฝายกั้นน้ำ รั่วซึมเพราะก่อสร้างมานาน พอถึงฤดูแล้งพบปัญหาน้ำที่รั่วและน้ำแห้ง ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำ ถ้าในฤดูฝนน้ำก็จะท่วม เพราะฝายไม่สามารถเก็บน้ำได้ ทางอบต.โคกสะบ้า ได้ทำโครงการเพื่อเสนอไปที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ โดยใช้ระยะเวลาพอสมควร กว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติ
แต่จากการที่มีการนำเสนอข่าวไปนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่มากขนาดนั้น ทางผู้รับเหมามีการขยายทางออกไปยาวกว่า 400 เมตร ต้นสาคู ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงประมาณ 22 ต้น นอกนั้นจะเป็นต้นเล็กที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ และได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง การสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ การแก้ปัญหาน้ำท่วม และการนำน้ำมาทำระบบประปาหมู่บ้าน ส่วนต้นสาคูที่เสียหายนั้นจะมีการปลูกขึ้นทดแทนอย่างแน่นอน
ในขณะที่นายณัติวิทย์ ปราบแทน ตัวแทนชาวบ้านที่ได้ผลกระทบ กล่าวว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะต้นสาคูที่อยู่ในพื้นที่ของตนเองได้รับผลกระทบ ต้องให้ทางโครงการขุดทำลาย แต่ตนเองก็ยินดี เพราะต้องการให้ทางโครงการได้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ เพราะเมื่อคิดเปรียบเทียบแล้ว การที่ยอมให้ต้นสาคูถูกทำลายไปบ้างเพื่อความเจริญของหมู่บ้าน และเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมของคนในหมู่บ้านตนเองยินดีให้ความร่วมมือ